โกศล ดีศีลธรรม
ผู้จัดการทั่วไป(General Manager)
บริษัท อีควิตี้ เซอร์วิสเซส แอนด์ โซลูชั่นส์ จำกัด(Equity Services and Solutions)
โดยทั่วไปบุคลากรที่มีบทบาทหลักในการจัดทำแผน คือ นักวางแผนงานบำรุงรักษา(Maintenance Planner) ซึ่งมีภารกิจหลักในการวางแผนและจัดทำกำหนดการบำรุงรักษา รวมถึงระบุแนวทางลดความสูญเปล่าที่เกิดจากการดำเนินงาน ส่วนจำนวนนักวางแผนงานบำรุงรักษาที่เหมาะสมควรมีสัดส่วนต่อบุคลากรบำรุงรักษาประมาณ 1:20 ซึ่งการวางแผนที่มีประสิทธิผลทางนักวางแผนควรตรวจเยี่ยมพื้นที่ทำงานในสายการผลิตเพื่อนำข้อมูลปัญหาจริงมาใช้เป็นแนวทางจัดทำแผนงานและระบุกำหนดการเพื่อจัดเตรียมกำลังคนฝ่ายบำรุงรักษาและทรัพยากรสนับสนุนกิจกรรมการผลิต โดยมีการประชุมหารือการจัดทำแผนและระบุกำหนดการร่วมกันระหว่างฝ่ายผลิตกับฝ่ายบำรุงรักษา ดังนั้นนักวางแผนควรมีความสามารถสื่อสารกับบุคลากรทุกระดับ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ฝ่ายผลิต ฝ่ายบำรุงรักษา สโตร์และวิศวกร รวมถึงการพบปะกับหัวหน้างานหรือผู้ควบคุมงานบำรุงรักษาอย่างน้อยวันละครั้งเพื่อติดตามความคืบหน้าของงานและปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อนำข้อมูลมาใช้ปรับเปลี่ยนแผนงาน โดยนักวางแผนงานบำรุงรักษาควรได้รับการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะการวิเคราะห์และการใช้เครื่องมือแก้ปัญหา อาทิ การวิเคราะห์สาเหตุหลัก(Root Cause Analysis) แผนภูมิพาเรโต้และเทคนิคการแก้ปัญหา ส่วนการกำหนดเป้าหมายงานบำรุงรักษานั้นทางฝ่ายบำรุงรักษาไม่สามารถกำหนดได้เองแต่จะต้องปรึกษากับฝ่ายงานที่เกี่ยวข้อง เพราะอาจมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ ดังนั้นจะต้องมีการระบุจุดตรวจสอบและกำหนดเครื่องจักรหลักที่ต้องดำเนินกิจกรรมบำรุงรักษาเชิงป้องกัน(Preventive Maintenance)
สำหรับช่วงแรกการดำเนินการจะต้องคัดเลือกเครื่องจักรหลักที่มีความสำคัญ(Critical Equipment)ด้วยการจัดลำดับความสำคัญและบันทึกข้อมูลลงในแบบฟอร์มพร้อมทำเครื่องหมายบนเครื่องจักร การดำเนินการควรประกอบด้วยทีมงานบำรุงรักษาที่มีบทบาทสนับสนุนการฝึกอบรมให้กับทีมงานบำรุงรักษาด้วยตนเอง ส่วนการระบุกิจกรรมบำรุงรักษาจะดำเนินการโดยคณะกรรมการเพื่อระบุปัญหาที่เกิดระหว่างการผลิตประจำวัน ซึ่งการระบุรายการกิจกรรมและกำหนดเวลาขึ้นกับความรุนแรงหรือความเร่งด่วนของปัญหา โดยทั่วไปกิจกรรมที่ระบุช่วงเดินเครื่องจักร ได้แก่ การวางแผนอะไหล่สำรอง การวางแผนจัดเตรียมบุคลากรเพื่อปฏิบัติการฉุกเฉิน แผนการถอดเปลี่ยนและเคลื่อนย้ายชิ้นส่วนอะไหล่ การตรวจสอบสภาพเครื่องจักรและระดับน้ำมัน การปรับตั้งการเยื้องศูนย์(Mis-Alignment) การตรวจสอบความเรียบร้อยการเดินสายไฟและอุปกรณ์เชื่อมต่อ สำหรับกิจกรรมที่ดำเนินการช่วงหยุดเดินเครื่องจักร ได้แก่ การถอดเปลี่ยนชิ้นส่วน(Replacement) การตรวจสอบความสั่นสะเทือน(Machine Vibration) และกระแสมอเตอร์ ทดสอบความผิดปกติของเสียง การทดสอบการรั่วน้ำมันและความดันอากาศ ดังนั้นก่อนจัดทำกำหนดการควรศึกษาประวัติเครื่องจักรที่ระบุรายละเอียดความถี่การเกิดปัญหาขัดข้องและข้อเสนอแนะของผู้ผลิต รวมทั้งลำดับผลกระทบกิจกรรมต่าง ๆ ในสายการผลิต
เนื่องจากการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน คือ ส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างความน่าเชื่อถือระบบการผลิตและเครื่องจักร(Reliability System)ที่มุ่งรักษาสภาพเครื่องจักรให้พร้อมใช้งานด้วยการดำเนินกิจกรรมบำรุงรักษาก่อนเกิดเหตุขัดข้อง โดยเฉพาะการบำรุงรักษาประจำวัน การปรับแต่งเครื่อง การตรวจเช็คและถอดเปลี่ยนอะไหล่ตามรอบเวลา การปรับปรุงวิธีการปฏิบัติงานที่มุ่งความปลอดภัยและการป้องกันไม่ให้ปัญหาเดิมเกิดขึ้นซ้ำ ส่วนการประเมินประสิทธิผลการบำรุงรักษาจะใช้ตัวชี้วัดความสูญเสียกำลังการผลิตและการหยุดเครื่องที่ไม่มีในแผน(Unplanned Shutdown) ดังนั้นประสิทธิผลงานบำรุงรักษาจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อสามารถลดความสูญเสียจากเครื่องจักรขัดข้อง แต่จะมีแนวทางใดบ้างที่ยืนยันว่าการดำเนินกิจกรรมบำรุงรักษาเกิดประสิทธิผลในช่วงเวลาที่เหมาะสม ดังนั้นการประเมินประสิทธิผลควรประกอบด้วย
- การกำหนดเป้าหมาย เนื่องจากการบำรุงรักษาเชิงแก้ไข(Corrective Maintenance) ถือเป็นองค์ประกอบหนึ่งในโครงการบำรุงรักษาเชิงป้องกันที่มุ่งการแก้ไขความขัดข้องในองค์ประกอบเครื่องจักรที่ถูกใช้เป็นตัวชี้วัดประสิทธิผลงานบำรุงรักษาเชิงป้องกัน การกำหนดเป้าหมายกิจกรรมบำรุงรักษาเชิงแก้ไขควรระบุตามสัดส่วนการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน ซึ่งปริมาณหรือสัดส่วนที่เหมาะสมขึ้นกับข้อกำหนดมาตรฐานเครื่องจักร โดยต้องมีจัดเก็บข้อมูลเพื่อใช้ประเมินผลและทบทวนแนวโน้มการสึกหรอแต่ละองค์ประกอบเครื่องจักร
- ประเมินประสิทธิผล โดยใช้ข้อมูลที่จัดเก็บเพื่อประเมินความถี่ปัญหาเดิมที่มักเกิดขึ้นซ้ำอีกซึ่งจะถูกนำมาวิเคราะห์หาสาเหตุหลักเพื่อดำเนินการขจัดออก บางกรณีอาจใช้แนวทางบำรุงรักษาเชิงคาดการณ์(Predictive Maintenance)เพื่อติดตามข้อมูลสภาพเครื่องจักรและประเมินแนวโน้มความชำรุด เช่น การวัดความสั่นสะเทือน การเยื้องศูนย์ เป็นต้น ข้อมูลเหล่านี้จะถูกใช้บ่งชี้องค์ประกอบหรือชิ้นส่วนที่ต้องปรับปรุงหรือการถอดเปลี่ยนก่อนเกิดความเสียหาย
- วิเคราะห์ความเสียง โดยนำข้อมูลองค์ประกอบโดยรวมของเครื่องจักรที่ถูกจัดเก็บในฐานข้อมูลสินทรัพย์โรงงาน(Plant Asset) เพื่อใช้ประเมินความเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อโรงงาน โดยมีการติดตามประเมินผลรายเดือน ผลการประเมินจะถูกใช้ทบทวนกิจกรรมบำรุงรักษา โดยมีการระบุองค์ประกอบหลักที่มีผลกระทบต่อระบบความน่าเชื่อถือของโรงงาน(Plant Reliability) และลำดับความสำคัญแต่ละองค์ประกอบไว้ในแผนงานบำรุงรักษาเชิงป้องกัน
- วิเคราะห์ค่าใช้จ่ายเทียบกับผลตอบแทนด้วยการติดตามจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับชั่วโมงทำงาน ที่ถูกใช้ในกิจกรรมแก้ไขและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ อาทิ ค่าโสหุ้ย ค่าอะไหล่ ซึ่งมีการแสดงผลรายงานประจำเดือน รวมทั้งประมาณค่าใช้จ่ายรายปี ข้อมูลเหล่านี้จะถูกใช้วิเคราะห์ค่าใช้จ่ายเทียบกับผลตอบแทน(Return on Investment)หรือ ROI เพื่อนำมาใช้พัฒนากลยุทธ์การบำรุงรักษา
สำหรับรายละเอียดที่ระบุไว้ในแผนงานจะขึ้นกับคุณสมบัติและทักษะทีมงานบำรุงรักษา หากทีมงานประกอบด้วยบุคลากรที่มีทักษะสูงโดยเฉพาะความรู้ด้านเครื่องจักรเป็นอย่างดีก็อาจลงแค่รายละเอียดที่จำเป็น ส่วนทีมงานที่มีทักษะหลากหลายระดับหรือมีบุคลากรด้านบำรุงรักษาในระดับที่กำลังเรียนรู้งานก็จะต้องระบุรายละเอียดไว้ในแผนงานและมาตรฐานอย่างละเอียดเพื่อให้ทุกคนในทีมงานมีความเข้าใจที่ถ่องแท้ นอกจากนี้บทบาทนักวางแผนบำรุงรักษาควรมีการประสานงานระหว่างผู้ควบคุมสายการผลิตกับผู้ควบคุมงานบำรุงรักษาเพื่อระบุแนวทางดำเนินการให้บรรลุผลตามเป้าหมายและส่งมอบแผนงานให้กับผู้ควบคุมงานบำรุงรักษาเพื่อนำไปดำเนินการและขยายผล