Skip to content

บทบาทสารสนเทศงานบำรุงรักษา

โกศล  ดีศีลธรรม

ผู้จัดการทั่วไป(General Manager)

บริษัท อีควิตี้ เซอร์วิสเซส แอนด์ โซลูชั่นส์ จำกัด(Equity Services and Solutions)

kosol@esspower.com

  ปัจจุบันสารสนเทศมีบทบาทสนับสนุนการดำเนินงาน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่ต้องมีอัปเดตข้อมูลที่มีการเปลี่ยนแปลงต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะการทำงานอย่างเช่น การประเมินสภาพสินทรัพย์เครื่องจักรที่สนับสนุนสายการผลิต ข้อมูลสำคัญได้แก่  สมรรถนะการใช้งาน  ความน่าเชื่อถือ(Reliability) และการวิเคราะห์สภาพความชำรุดด้วยการวัดความสั่นสะเทือนเครื่องจักร(Machine Vibration)หรือความเยื้องศูนย์   โดยข้อมูลเหล่านี้จะถูกป้อนสู่ระบบเพื่อใช้สำหรับวางแผนงานบำรุงรักษาและสนับสนุนต่อการตัดสินใจ  ดังนั้นการจัดทำระบบสารสนเทศควรมุ่งความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ทางธุรกิจ(Business Objective) ที่มักใช้มาตรวัดเทียบเคียงทางการเงินเพื่อนำเสนอรายงานต่อผู้บริหารและแสดงถึงผลกระทบทางการเงินของสินทรัพย์หรือเครื่องจักรที่ติดตั้งในแต่ละส่วนการผลิตตลอดช่วงอายุการใช้งาน(Life Cycle) รวมทั้งจัดทำมาตรวัดติดตามประเมินผล  ดังกรณีระบบ Steam Turbine โรงผลิตกระแสไฟฟ้า(Power Generation) ประกอบด้วยมาตรวัดสำคัญ อาทิ

  • ผลิตผล(กิโลวัตต์-ชั่วโมง/ปี)
  • ต้นทุนดำเนินงานในสินทรัพย์ / กิโลวัตต์-ชั่วโมง(Asset Operations Cost per KWh) ประกอบด้วย ระบบควบคุมและค่าแรงงาน
  • ค่าใช้จ่ายบำรุงรักษาสินทรัพย์/ กิโลวัตต์-ชั่วโมง (Asset Maintenance Cost / KWh) ได้แก่ การตรวจสอบสภาพเครื่องจักร  ค่าอะไหล่/ชิ้นส่วน  การตรวจซ่อมใหญ่(Major Overhaul) และการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน
  •  ค่าสิ่งอำนวยความสะดวกและสาธารณูปโภคต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง (Asset Utilities Cost/ KWh) เช่น ค่าน้ำที่ป้อนข้าสู่ระบบ(Feed Water) และค่าไฟฟ้าที่จ่ายเข้าสู่ระบบ
  • ค่าประกันภัย / กิโลวัตต์-ชั่วโมง(Asset Insurance Cost/KWh)

      สำหรับผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมการผลิตอาจดำเนินการจัดเก็บข้อมูลเพื่อประเมินความสามารถทำกำไรรายวันจากเครื่องจักรในสายการผลิต(Daily Asset Profitability) โดยหาจากความสัมพันธ์ ดังนี้

ความสามารถทำกำไรรายวัน(Daily Asset Profitability)

= (รายได้การขายผลิตภัณฑ์ที่ถูกผลิตแต่ละวัน – ผลรวมค่าใช้จ่ายแต่ละวัน)

  ส่วนรายการต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ใช้ประเมิน ได้แก่ ต้นทุนสินทรัพย์ที่ลงทุน(Cost of Capital) ต้นทุนวัตถุดิบที่ใช้สำหรับกิจกรรมการผลิตแต่ละวัน  ต้นทุนดำเนินงานที่เกิดขึ้นแต่ละวัน ค่าใช้จ่ายงานบำรุงรักษา ค่าสิ่งอำนวยความสะดวกและสาธารณูปโภค ค่าประกันภัยและต้นทุนความเสี่ยงจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด(Unplanned Event Risk Cost) โดยทั่วไปองค์ประกอบหลักสารสนเทศที่จำเป็นสำหรับงานบำรุงรักษา ประกอบด้วย 

  • สารสนเทศงานออกแบบทางวิศวกรรม

  เป็นสารสนเทศพื้นฐานของการบริหารสินทรัพย์(Asset Management) โดยเฉพาะรายละเอียดข้อกำหนดการออกแบบเครื่องจักรในกระบวนการผลิต  เช่น แผนภาพเครื่องมือและเครื่องวัดในโรงงาน  แบบ(Drawing) โดยมีการจัดทำในรูปเอกสารเพื่อง่ายต่อการทำความเข้าใจในข้อกำหนดรายละเอียดและสามารถใช้เป็นข้อมูลการจัดซื้ออย่างเหมาะสม  นอกจากนี้สารสนเทศงานออกแบบทางวิศวกรรมยังถูกใช้ประเมินความเสี่ยง(Risk Assessment) ในแต่ละองค์ประกอบเครื่องจักรด้วยรูปแบบความเสียหาย(Failure Mode) ที่มีผลกระทบต่อความเสียหายของโรงงาน  โดยมุ่งทดสอบความน่าเชื่อถือชิ้นส่วนหลักที่ส่งผลกระทบต่อระบบโดยรวมเพื่อดำเนินการถอดเปลี่ยนก่อนที่จะเกิดความชำรุดเสียหาย  โดยทั่วไปมักดำเนินการทดสอบทางกายภาพหรือปัจจัยสภาพแวดล้อมที่ส่งผลต่อการเสื่อมสภาพ เช่น การกัดกร่อน(Corrosion)  ความสึกหรอจากความสั่นสะเทีอน(Vibration)และวิเคราะห์ผลกระทบจากความชำรุดเสียหายด้วย FMEA เพื่อกำหนดแนวทางป้องกัน ซึ่งผลลัพธ์จากการประเมินจะถูกใช้ระบุแนวทางตรวจติดตามสภาพ หากองค์ประกอบหรือชิ้นส่วนเกิดความชำรุดก็จะดำเนินการถอดเปลี่ยน(Replacement)

  • กฏระเบียบด้านความปลอดภัย

  การเข้าใจกฎระเบียบด้านความปลอดภัยที่เกี่ยวกับการติดตั้ง การปฏิบัติงาน และการบำรุงรักษาเครื่องจักรเป็นสิ่งที่จำเป็น เนื่องจากความปลอดภัยได้มีผลต่อการตัดสินใจเมื่อต้องดำเนินการซ่อมแซมในสภาพที่มีความเสี่ยงสูง(High Risk Repair) ตลอดจนการกำหนดระยะเวลาที่เหมาะสมสำหรับการใช้งานเครื่องจักรที่ได้รับการซ่อมแซม ดังนั้นทีมงานพัฒนาจัดทำระบบต้องเข้าใจในกฎระเบียบและข้อกำหนดทางกฎหมายเพื่อใช้ระบุแผนงานบำรุงรักษาอย่างมีประสิทธิผล  นอกจากนี้ยังใช้เป็นข้อมูลพิจารณาเงื่อนไขการทำประกันภัยให้กับเครื่องจักรอย่างเหมาะสม  โดยนำข้อมูลโครงสร้างเครื่องจักรที่ถูกจัดเก็บในฐานข้อมูลสินทรัพย์โรงงาน(Plant Asset Database) เพื่อประเมินความเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อโรงงาน(Overall Plant Risk Assessment) โดยมีการติดตามประเมินผลรายเดือน  ผลลัพธ์การประเมินจะถูกทบทวนกิจกรรมบำรุงรักษาเชิงป้องกัน โดยมีการระบุองค์ประกอบหลักที่มีผลกระทบต่อระบบความน่าเชื่อถือโดยรวมของโรงงานและลำดับความสำคัญแต่ละองค์ประกอบของเครื่องจักรไว้ในแผนงานบำรุงรักษาเชิงป้องกัน

  • การควบคุมปฏิบัติการในกระบวนการผลิต 

  สำหรับแผนปฏิบัติการ ประกอบด้วย กำหนดการทำงานทั้งในส่วนแรงงานและเครื่องจักรในกระบวนการผลิต ทำให้ทราบระดับงานค้าง(Backlog) หรือปัญหาคอขวด(Bottleneck) ที่เกิดขึ้นในสายการผลิต โดยข้อมูลเหล่านี้ได้ถูกใช้สนับสนุนการบริหารเครื่องจักร สำหรับโรงงานทั่วไปมักใช้ระบบควบคุมแบบกระจาย(Distributed Control System) หรือ DCS ติดตามควบคุมสถานะกระบวนการผลิต   ข้อมูลเหล่านี้ทำให้ทราบสภาวะการเดินเครื่องจักร  ความเร็ว  อุณหภูมิ และปัจจัยอื่น ๆ ที่มีผลกระทบต่อสภาพเครื่องจักร  ดังนั้นทีมงานฝ่ายบำรุงรักษาต้องให้ความสำคัญในการติดตามจัดเก็บข้อมูลเพื่อใช้วิเคราะห์ประเมินประสิทธิผล

  • การวางแผนความน่าเชื่อถือ 

  การวางแผนความน่าเชื่อถือ(Reliability Planning) เป็นขั้นตอนสำคัญที่นำไปสู่การปรับปรุงการใช้สินทรัพย์ (Asset Utilization)อย่างมีประสิทธิภาพ  โดยกระบวนการวางแผนจะเริ่มจากการกำหนดมาตรวัดหลักสำหรับติดตามและกำหนดเป้าหมายปรับปรุง  เช่น  เวลาการหยุดเดินเครื่องจักร ค่าล่วงเวลาในงานบำรุงรักษา และค่าอะไหล่/ชิ้นส่วนสำหรับถอดเปลี่ยน เป็นต้น หลังจากได้กำหนดเป้าหมายการปรับปรุงแล้ว  ขั้นต่อไปจะเป็นการศึกษาเครื่องจักรหลักที่มีผลกระทบต่อสายการผลิต   รวมถึงกฎความปลอดภัย  ต้นทุนความชำรุดเสียหาย และแนวทางบำรุงรักษาที่มุ่งความน่าเชื่อถือ(Reliability-Centered Maintenance)  หรือ RCM  ผลลัพธ์การศึกษา คือ แผนงานบำรุงรักษาที่เหมาะสมสำหรับเครื่องจักร โดยเป็นการบูรณาการแนวทางบำรุงรักษาเชิงคาดการณ์(Predictive Maintenance) กับการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน(Preventive Maintenance)และการบำรุงรักษาเชิงรับ(Reactive Maintenance) หรือ Failure-Based Maintenance  โดยนักวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือ(Reliability Analyst) จะทำการทบทวนความถี่และรูปแบบความชำรุดเสียหาย  ซึ่งหลังจากที่เกิดความชำรุดขึ้นทางทีมงานจะดำเนินการวิเคราะห์เพื่อระบุสาเหตุหลักของปัญหาความชำรุดที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ และนำผลลัพธ์การวิเคราะห์มาใช้วางแผนป้องกันไม่ให้ปัญหาเดิมเกิดขึ้นอีก(Prevent Future Occurrence) รวมถึงติดตามปัจจัยต่าง ๆ ที่อาจก่อให้เกิดความชำรุดขึ้นในเวลาอันใกล้

  • การปฏิบัติงานบำรุงรักษา  

  สำหรับขั้นตอนปฏิบัติงานบำรุงรักษาจะใช้ผลลัพธ์ช่วงวางแผนความน่าเชื่อถือ(Reliability Planning)   โดยมีระบบบริหารสินทรัพย์องค์กร(Enterprise Asset Management /EAM) หรือระบบบริหารงานบำรุงรักษาด้วยคอมพิวเตอร์(CMMS) สนับสนุนการจัดทำกำหนดการบำรุงรักษาและมาตรวัดความน่าเชื่อถือ(Reliability Metric) รวมทั้งควบคุมค่าใช้จ่ายหรืองานซ่อมที่ค้าง(Backlog) โดยมีการเก็บประวัติข้อมูลปัญหาตลอดจนแนวทางแก้ปัญหา  ข้อมูลเหล่านี้ถูกใช้ระบุแนวทางดำเนินกิจกรรมบำรุงรักษาในอนาคต(Future Direction of Maintenance Activities)

  • การติดตามประเมินสภาพเครื่องจักร  

  เนื่องจากเครื่องจักรเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่าง ๆ ต่อกระบวนการ เช่น คุณภาพ  กำลังการผลิต  ความปลอดภัย ความเสี่ยง และต้นทุนการผลิต เป็นต้น ดังนั้นการป้อนกลับสารสนเทศแบบเวลาจริง(Realtime) จึงมีบทบาทต่อการแจ้งเตือนความชำรุดที่อาจเกิดขึ้นและปรับปรุงความน่าเชื่อถือระบบด้วยการใช้เทคโนโลยีตรวจจับสภาพเครื่องจักรขณะกำลังเดินเครื่อง  รวมทั้งการวินิจฉัยปัญหาด้วยแนวทางต่าง ๆ เช่น การวิเคราะห์การสั่นสะเทือ( Vibration) ความเยื้องศูนย์ของเพลา(Shaft Alignment) วิเคราะห์วงจรไฟฟ้า(Electrical Circuit Analysis)  การใช้ตรวจจับภาพด้วยความร้อน(Thermographic Imaging) เป็นต้น โดยข้อมูลจะถูกบันทึกในระบบสารสนเทศเพื่อใช้วางแผนงานบำรุงรักษาต่อไป

  • การจัดหาจัดซื้อและบริหารสต็อก

   โดยมุ่งบริหารสต็อกที่ใช้สำหรับรายการถอดเปลี่ยนทดแทน(Replacement Assets) และอะไหล่ที่จัดเก็บในสโตร์  ข้อมูลเหล่านี้ได้ถูกใช้ระบุข้อกำหนด(Specification) สำหรับวางแผนจัดซื้อโดยพิจารณาปัจจัยต้นทุนการจัดเก็บและช่วงระยะเวลานำการส่งมอบรายการที่จัดซื้อ(Lead-Time-to-Delivery of Replacement Parts) ที่มีผลกระทบต่อปัญหาการหยุดของสายการผลิต(Production  Downtime) เพื่อหลีกเลี่ยงการจัดซื้อเร่งด่วน(Rush Purchase) และประหยัดต้นทุนทางธุรกรรมจัดซื้อ   นอกจากนี้สารสนเทศต้องมีความเชื่อมโยงกับระบบการเงินเพื่อการจัดทำรายงานให้กับผู้บริหาร

  • การบูรณาการระบบ

   เมื่อได้ดำเนินการจัดทำระบบแต่ละส่วนเรียบร้อยแล้วทางทีมงานพัฒนาระบบจะดำเนินการรวบรวมสารสนเทศแต่ละส่วนเพื่อบูรณาการเป็นระบบเดียวกันที่สะดวกต่อการเข้าถึงในการร่วมใช้ข้อมูล  ดังนั้นทางทีมงานต้องทำการวางแผนและศึกษาระบบอย่างรอบครอบ  เพื่อหลีกเลี่ยงต่อความล้มเหลวของการบูรณาการระบบ  เนื่องจากข้อมูลที่จัดทำขึ้นในแต่ละส่วนจะมีรูปแบบ(Format) แตกต่างกัน โดยทั่วไปเมื่อการบูรณาการระบบเสร็จสิ้นแล้วสารสนเทศส่วนใหญ่จะถูกจัดเก็บในฐานข้อมูลที่เชื่อมโยงกับระบบองค์กรเพื่อใช้สนับสนุนการตัดสินใจอย่างมีประสิทธิผลและวางแผนงานบำรุงรักษาเพื่อลดความสูญเสียในสายการผลิต

สรุป

  ระบบสารสนเทศเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนงานบำรุงรักษา  ดังนั้นความสำเร็จการพัฒนาจัดทำระบบจึงต้องมีการวางแผนและจัดเก็บข้อมูลที่มีความแม่นยำ  รวมถึงการทบทวนและปรับปรุงข้อมูลต่อเนื่อง  เพื่อให้ระบบสารสนเทศมีความสอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน สามารถใช้เป็นแนวทางจัดทำแผนงานบำรุงรักษาและการรายงานผลที่สนับสนุนการตัดสินใจอย่างมีประสิทธิผล

Other blogs

Please Login to Comment.