Skip to content

แนวโน้มการทรานส์ฟอร์เมชันงานบำรุงรักษาในธุรกิจสายการบิน

โกศล  ดีศีลธรรม

ผู้จัดการทั่วไป(General Manager)

บริษัท อีควิตี้ เซอร์วิสเซส แอนด์ โซลูชั่นส์ จำกัด(Equity Services and Solutions)

kosol@esspower.com

   การวางแผนบำรุงรักษามีบทบาทสำคัญในการป้องกันและลดปัญหาเครื่องจักรชำรุดเสียหาย   ดังนั้นผู้ประกอบการควรพิจารณาปัจจัยและประเมินผลกระทบการบำรุงรักษาหลังเกิดเหตุขัดข้อง(Breakdown Maintenance)เพื่อลดความสูญเสียโอกาสทางธุรกิจ หากปราศจากแผนการบำรุงรักษาแล้วความเสียหายที่เกิดจากเครื่องจักรขัดข้องและค่าใช้จ่ายการซ่อมบำรุงจะสูงมาก ซึ่งการดำเนินการอย่างมีประสิทธิผลควรคำนึงถึงความเหมาะสมด้วยการจัดทำแผนเพื่อลดความสูญเสียและยืดอายุการใช้งาน  แนวโน้มการดำเนินธุรกิจถูกปรับเปลี่ยนไปจากรูปแบบเดิมที่มุ่งใช้แรงงานสู่ความเป็นอัตโนมัติมากขึ้น  ทำให้ระบบบำรุงรักษามีบทบาทสนับสนุนการดำเนินงานมากขึ้น   โดยเฉพาะการบำรุงรักษาเชิงคาดการณ์(Predictive Maintenance)และการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน(Preventive Maintenance) เช่น การใช้อุปกรณ์  V-Starter Smart Vibration Analyzer   วิเคราะห์ความสั่นสะเทือนเพื่อนำข้อมูลมาประเมินความน่าเชื่อถือระบบและคาดการณ์แนวโน้มการชำรุดของอุปกรณ์หรือชิ้นส่วนสำคัญ

   สำหรับกรณีธุรกิจสายการบินถือว่างานบำรุงรักษามีบทบาทสนับสนุนการให้บริการลูกค้าอย่างปลอดภัย รวมถึงการซ่อมบำรุงอุปกรณ์ต่างๆ​ หากยิ่งทำได้เร็วก็ยิ่งลดความเสี่ยง  โดยเฉพาะแนวคิดการทำฝาแฝดดิจิทัล(Digital Twins) กลายเป็นแนวทางที่สายการบินต่าง ๆ และผู้ผลิตเครื่องบินนิยมใช้กัน การทำฝาแฝดดิจิทัล คือ การติดตามข้อมูลอุปกรณ์ใดๆ อย่างต่อเนื่องและนำข้อมูลเหล่านั้นมาใช้เป็นข้อมูลเพื่อระบุตัวตนและสถานะอุปกรณ์นั้น ๆ   กรณีการบำรุงรักษาเครื่องบิน อุปกรณ์แต่ละส่วนภายในเครื่องบินจะติดตั้งอุปกรณ์เซ็นเซอร์(Sensor) เพื่อรวบรวมข้อมูลการปฏิบัติงานและส่งมายังระบบประมวลผลเพื่อตรวจสอบว่ามีชิ้นส่วนใดทำงานผิดปกติและแนวโน้มที่จะชำรุดหรือไม่ ? แล้วให้ฝ่ายซ่อมบำรุงทำการถอดเปลี่ยนหรือซ่อมชิ้นส่วนนั้นก่อนเกิดการ​ Breakdown ช่วยให้สายการบินลดปัญหา Downtime อย่างมาก  อีกทั้งช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้โดยสารด้วย รวมถึงการเปิดโอกาสให้สามารถต่อยอดข้อมูลปริมาณมหาศาล(Big Data)ที่มีอยู่เหล่านี้ สู่การนำเทคโนโลยีอื่นๆ มาช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำงานได้ในอนาคต

   ตามรายงาน SITA ระบุว่ากว่า 50% ของสายการบินเริ่มลงทุนเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์(Artificial Intelligence) หรือ AI และ Cognitive Computing แล้ว โดยหนึ่งในหน้าที่หลักของ AI คือ การเป็นผู้ช่วยในการบำรุงรักษาเครื่องบินด้วยการวิเคราะห์เชิงคาดการณ์(Predictive Analytics)  โดยใช้ข้อมูลฝาแฝดดิจิทัลร่วมกับข้อมูลการปฏิบัติงานแต่ละวันของสายการบินเพื่อนำมาวิเคราะห์ว่าควรต้องบำรุงรักษาอย่างไร,ชิ้นส่วนใดมีแนวโน้มที่จะเสียบ้างและการสำรองชิ้นส่วน​ อุปกรณ์ส่วนต่างๆ ภายในสนามบินแต่ละแห่งควรมีจำนวนมากน้อยเท่าไหร่ ? ทำให้ลดเวลาแก้ปัญหาและค่าใช้จ่ายการดำเนินงาน  แต่ด้วยลักษณะธุรกิจสายการบิน เครื่องบินมักต้องไปประจำการอยู่ตามสนามบินพื้นที่ต่างๆ กระจายกันทั่วโลก  ดังนั้นการใช้ระบบคลาวด์(Cloud) เพื่อประมวลผลด้าน AI กลายเป็นแนวทางที่ได้รับความสนใจไม่น้อย เพราะข้อมูลจากฝาแฝดดิจิทัลสามารถส่งขึ้นไปจัดเก็บบนระบบคลาวด์ด้วยเช่นกัน ทำให้บริการคลาวด์ที่มีคุณภาพและความทนทานสูงกลายเป็นหัวใจธุรกิจการบินในอนาคต ปัจจุบันการใช้ Cloud ร่วมกับ Mobile ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพการให้บริการ เนื่องจากการทำงานภายในธุรกิจสายการบินมักไม่ใช่งานที่จะอยู่ประจำที่ แต่เป็นงานที่ต้องเดินทางเคลื่อนที่ตลอดเวลาทั้งภายในอาคารโดยสารและการเดินทางข้ามประเทศ  การนำอุปกรณ์ Mobile เข้ามาใช้เป็นอุปกรณ์หลักที่จะช่วยให้เจ้าหน้าที่แผนกต่างๆ สามารถทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการเลือกใช้บริการ Software-as-a-Service(SaaS) บน Cloud เพื่อตอบโจทย์เฉพาะทางต่าง ๆ ในธุรกิจนั้นกลายเป็นทางเลือกที่ได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ ผลการสำรวจ IFS พบว่ามากกว่า 30% ของผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจการบินมองว่าระบบ Mobile จะกลายเป็นหัวใจสำคัญการทำ Digital Transformation ในวงการ นอกจากนี้โดรน(Drone) ถือเป็นผู้ช่วยวิศวกรคนใหม่สำหรับสายการบิน เดิมทีการประเมินความเสียหายของเครื่องบินด้วยสายตา อาจต้องกินเวลามากถึง 6 ชั่วโมงต่อเครื่อง แต่การมาของโดรนหรือ Unmanned Aircraft Systems(UAS) อาจเป็นตัวช่วยที่จะเข้ามาทำหน้าที่บินตรวจสอบเครื่องบินแทนวิศวกร  ทำให้การตรวจสอบมีความรวดเร็วมากขึ้น และวิศวกรสามารถทำงานอย่างประสิทธิภาพมากขึ้น โดยใช้เวลาลดลงในการตรวจสอบแต่ละครั้ง และอาจก้าวหน้าถึงการให้ระบบ AI ช่วยประเมินภาพถ่ายรอบเครื่องโดยอัตโนมัติก็เป็นได้ ซึ่งวิศวกรก็จะเหลือบทบาทเพียงแค่การตรวจสอบความถูกต้อง ลดภาระหน้าที่ของงานลงได้มาก  แต่การใช้โดรนในเขตสนามบินนั้นยังคงเป็นเรื่องที่ต้องจัดการด้านกฎหมายและความปลอดภัยให้เรียบร้อยเสียก่อน เพราะการใช้โดรนในพื้นที่การบินถือเป็นเรื่องอ่อนไหว จึงต้องมีกฎระเบียบใหม่ที่รัดกุมครอบคลุมเทคโนโลยีเหล่านี้เสียก่อนจึงนำมาใช้ได้จริง จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีส่วนใหญ่ยังไม่ได้มาแทนเจ้าหน้าที่หรือพนักงานฝ่ายใดในสายการบิน แต่จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้การทำงานง่ายขึ้นและประสิทธิภาพสูงขึ้นมากกว่า  ดังนั้นผู้ที่ทำงานในวงการนี้ก็อาจต้องเตรียมตัวเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ปรับตัวเข้ากับกระบวนการทำงานที่เปลี่ยนไปและเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้นในอนาคต เสริมจากทักษะและประสบการณ์ที่มีอยู่เดิม ให้สามารถนำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด​ !

   สำหรับท่านที่สนใจเนื้อหาสาระและข้อมูลดี ๆ ด้านการบำรุงรักษาหรือโซลูชั่นส์และงานบริการต่าง ๆ สามารถลงทะเบียนและติดตามที่เว็บไซต์ www.esspower.com

Please Login to Comment.